เหตุการณ์บ้านเมือง

ม.ค.67 กฤษฎีกาตอบเงินดิจิทัล คลังมั่นใจได้แจกประชาชนแน่

เงินดิจิตอล ข่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากการสอบถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับพิจารณาข้อกฎหมายโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2 สัปดาห์ และจะส่งหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบภายในเดือน ม.ค.67 “คำถามของกระทรวง จะเป็นข้อกฎหมายว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ตเดินหน้าได้หรือไม่ ขัดกฎหมายหรือไม่ หากคำตอบกฤษฎีกาบอกว่าเดินหน้าได้ กระทรวงจะเร่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทตามกรอบเวลาไม่เกิน พ.ค.67 แน่นอน”

ส่วนกรณีที่เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่วิกฤติ ไม่ได้สอบถาม เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี การกระตุ้นจึงจำเป็น ส่วนข้อกังวลเรื่องหนี้สาธารณะ ไม่อยากให้กังวล เพราะหากเศรษฐกิจโต มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะจะลดลง ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ของจีดีพี เมื่อรัฐบาลแจกเงินดิจิทัลได้ จะช่วยผลักดันจีดีพีในช่วง 4 ปี (ปี 67-70) เติบโตเฉลี่ย 5% หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60%.

เรียก 3 หน่วยงานให้ข้อมูล “เงินดิจิทัล 10000” เลขาฯ ป.ป.ช. ชี้ยังต้องเฝ้าติดตาม

เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ท่ามกลางกระแสทวงถามถึงนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เคยหาเสียงไว้ มีการยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการเรื่องระบบหลังได้เป็นรัฐบาล และเริ่มดำเนินโครงการในปีหน้า ให้ทันก่อนครึ่งปี แต่นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ ออกมาแสดงความกังวลว่า นโยบายนี้ อาจส่งผลกระทบให้มีหนี้สาธารณะเพิ่ม จนกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ข้อมูลจาก เอกสารที่พรรคการเมืองยื่นต่อ กกต. ที่วิเคราะห์โดย ทีมงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทย นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งต้องใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1. รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท 2. การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท 4.การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท

หากวิเคราะห์ถึงแหล่งเงินในการดำเนินนโยบาย จะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ต้องปรับลดงบลงทุน หรือการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน หรือปรับลดสวัสดิการที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อน

แม้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สูงมากนัก แต่ไม่ได้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ดังที่หลายพรรคการเมืองเสนอ นอกจากนี้แม้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงจะเกิดเงินเฟ้อ หากรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป

พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ควรกำหนดเงื่อนเวลาของการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยควรระวังไม่ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเกินกว่าระดับตามศักยภาพมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเงินเฟ้อและมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรระวังการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตประเทศจะมีภาระเพิ่มขึ้นจากกองทุนประกันสังคม ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอีกมากจากการเป็นสังคมสูงอายุ หากหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลขาดวินัยการคลัง อาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย.